กระเทียม
กระเทียมไทย กระเทียมขาว หอมขาว ( อุดรธานี ) เทียม หัวเทียม ( ใต้ ) ปะเช้วา ( กะเหรี่ยง - แม่ฮ่องสอน ) หอมเทียม ( เหนือ )
Allium sativum Linn. กระเทียมไทย หัวเล็ก กลีบเล็ก
A.porrum Linn. กระเทียมจีน หัวใหญ่ กลีบใหญ่ กลิ่นฉุน
Garlic
ลักษณะ ไม้ลงหัวล้มลุก มีหัวเล็ก ๆ หลายหัวอยู่ใต้ดิน หัวมีเปลือกขาวหุ้มเป็นชั้น ๆ ใบสีเขียวแก่ ใบแบนแคบโคนใบมีกาบบางหุ้มซ้อนกัน ปลายใบแหลม ดอกสีขาวหรืออมชมพู ดอกติดกันเป็นกระจุก ก้านดอกยาว มีหลายดอก ดอกมี ๖ กลีบ รูปยาวแหลม
สรรพคุณ
ใบ รสร้อนฉุน ช่วยกระจายโลหิต แก้ลมปวดมวนในท้อง ทำให้เสมหะแห้ง
หัว รสร้อนฉุน
ตำรายาแผนใหม่มาตรฐานของอังกฤษชื่อ มาร์ตีนแดล ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกระเทียมไว้มากคือ
๑. ฆ่าเชื้อรา สารอัลลีซีนมีฤทธิ์ยับยั้งหรือฆ่าเชื้อราตามผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ตามเล็บและผม และเชื้อราที่ทำให้สมองอักเสบ โดยใช้น้ำคั้นจากหัว นอกจากนี้ยังช่วย บำรุงผมและหนังศีรษะ ทำให้ผิวหนังสะอาดไม่เป็นตุ่ม ด่างดำ เป็นสิว หรือฝี
๒. ฆ่าเชื้อยีสต์ ( เชื้อราชนิดหนึ่ง ) ที่ทำให้ลิ้นเป็นฝ้าขาวในเด็กทารก รักษามุตกิตระดูขาว โดยใช้น้ำคั้นกระเทียมทาลิ้นและล้างช่องคลอด
๓. ลดความดันโลหิตสูง เชื่อว่าสาร จี.อี. ในกระเทียม อาจลดความดันโลหิตโดยช่วยขยายเส้นเลือด ลดไขมันและโคเลสเตอรอล สารอัลลีซีนและคอร์ดีนีนจะช่วยลดไขมันในเลือดได้ ทั้งยังป้องกันผนังหลอดเลือดหนาและแข็งตัว และลดน้ำตาลในเลือดด้วย
๔. ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สารอัลลีซีนอาจยับยั้งแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้ถึง ๑๕ ชนิด เช่นเชื้อที่ทำให้เกิดฝีและหนองที่แผลเชื้อทอนซิลอักเสบ เชื้อทางเดินปัสสาวะอักเสบ เชื้อวัณโรค เชื้อปอดบวม เชื้อโรคที่เป็นพิษต่อลำไส้ เชื้อบิด ทั้งยังป้องกันการติดเชื้อด้วย นอกจากนี้กระเทียมยังมีสารกาลีซีนซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่มีพิษต่อลำไส้เช่นบิดมีตัวได้ดี
๕. รักษาไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ช่วยขับเสมหะ
๖. แก้โรคหืดและโรคหลอดลม โรคไอเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบ โรคไอกรน
๗. ควบคุมโรคกระเพาะ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
๘. ขับพยาธิ เช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม
๙. แก้เคล็ดขัดยอก โดยตำกระเทียมคั้นน้ำทา แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย ปวดข้อมือนิ้วมือ แก้เล็บช้ำเพราะถูกกระแทก แก้ช้ำใน
๑๐. แก้ปวดหัว ปวดหัวข้างเดียว หรือไมเกรน
๑๑. แก้ต้อเนื้อ ตาฟาง ตาแฉะ
๑๒. รักษาริดสีดวงจมูก แก้ไซนัส
๑๓. แก้รำมะนาด แก้ปวดฟัน
๑๔. แก้แพ้อากาศ
๑๕. แก้ลมบ้าหมู แก้ชักกระตุก
๑๖. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้หูด
๑๗. อื่น ๆ คือ ป้องกันผมหงอก แก้เลือดกำเดาไหล ใช้กันรูใส่ตุ้มหูเน่า แก้เจ็บ ปวด บริเวณไต แก้เส้นเลือดดำขอด แก้โรคเท้าเปื่อย ขับประจำเดือน ต่อต้านเนื้องอก กำจัดพิษตะกั่วและใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย
น้ำคั้นจากกระเทียมมีฤทธิ์แรงกว่าน้ำมันกระเทียมที่ได้จากการกลั่น และดีกว่าน้ำยาที่ได้จากการนำกระเทียมไปแช่ในแอลกอฮอล์ หรือที่ทำเป็นยาสำเร็จรูป
อย่างไรก็ดี กระเทียมก็อาจมีโทษอยู่บ้าง กล่าวคือ
๑. มีฤทธิ์ระคายเคืองสูง เมื่อกินขณะท้องว่างจะทำให้ระคายเคืองในกระเพาะลำไส้ ทำให้ปวดท้อง ทำให้ผิวหนังเป็นตุ่มพอง
๒. อาจทำให้เกิดอาการแพ้ บางคนแพ้กระเทียม ทำให้เกิดผื่นแดงคัน เกิดอาการร้อนใน เจ็บคอ
๓. ทำลายเม็ดโลหิตแดง ถ้ากินกระเทียมมากเกินไป ร่างกายจะมีเม็ดโลหิตแดงน้อยลง เพราะสารอัลลีซีนไปทำลายเม็ดโลหิตแดงให้แตกออก
๔. ทำให้ตับทำงานไม่เต็มที่
๕. ทำให้ตาผิดปกติ การกินกระเทียมมาก กระเทียมจะไปกวนม่านตาทำให้ตาสู้แสงจ้าไม่ได้
๖. ควันกระเทียมเป็นอันตรายต่อเด็ก
ที่มา จากหนังสือ สมุนไพร ร้านเจ้ากรมเป๋อ ของ อุทัย สินธุสาร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น